สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ

สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ สัมภาษณ์ศิลปินแห่งชาติ สัมภาษณ์แขกรับเชิญ

 

 

ศูนย์เฝ้าระวังทาง...
บรรณาธิการ
ห้องรับแขก
ฉลาดบริโภค
บอกเล่าเก้าสิบ
ร่วมด้วยช่วยสังคม
ข่าวคนดี
แสดงความคิดเห็น

  สัมภาษณ์พิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม   

ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง

ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง

 

 

  "วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกิดจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม และมนุษย์กับธรรมชาติ วัฒนธรรมมีทั้งสาระและรูปแบบที่เป็นระบบความคิด      วิธีการ โครงสร้างทางสังคม สถาบัน ตลอดจนแบบแผนทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น"

          ข้อความข้างต้นเป็นความหมายของวัฒนธรรม ซึ่งกำหนดไว้ในกรอบและทิศทางแผนวัฒนธรรมแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๓๙) โดยจะเห็นว่าคำจำกัดความดังกล่าวสะท้อนถึง         แนวความคิดในเรื่องวัฒนธรรมอย่างชัดเจน                    ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมไม่ได้หมายความเพียงแค่การร่ายรำที่สวยงาม      การปฏิบัติตามระเบียบประเพณี การมีสัมมาคารวะซึ่งล้วนแต่เป็นความเข้าใจอย่างแคบ

          ทั้งนี้ผู้ที่ให้คำจำกัดความดังกล่าว คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง   ซึ่งท่าน      ได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม เนื่องจากท่านเป็นผู้ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา ในด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และด้านชีวิตวัฒนธรรม สังคมวัฒนธรรมควบคู่กับด้านศิลปวัฒนธรรม นับว่าท่านเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศเราคนหนึ่ง ซึ่งท่านได้ให้โอกาส "ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม" เข้าสัมภาษณ์เพื่อขอความรู้และแนวคิดในเรื่องที่ท่านเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติ และเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจต่อไป

 ศูนย์เฝ้าระวังฯ : อาจารย์มองว่าอะไรคือภัยทางวัฒนธรรม

 ดร. เอกวิทย์ : ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภัยทางวัฒนธรรมไม่ได้มาจากภายนอกอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นจากภายในสังคมเราเองด้วย กล่าวคือ เรายังขาดความเข้าใจในวัฒนธรรมของเราจริง ๆ     ยกตัวอย่าง ในเรื่องของหลักพุทธศาสนา บ้านเมืองเราเป็นเมืองพุทธ เรานับถือศาสนาตามพ่อแม่ ตามประเพณีของเรา แต่ถ้าถามว่า เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาดีขนาดไหน เพราะเมื่อเราไม่รู้จัก ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิด ๆ หลงเชื่อและศรัทธาอย่างงมงาย ดังนั้นถ้าเราไม่มีพื้นฐานหรือความเข้าใจในเรื่อง นั้น ๆ ดีพอ มันก็เกิดเป็นภัยได้

               ส่วนภัยที่จะมาจากภายนอกก็คงเนื่องจากการแพร่สะพัดของข้อมูลข่าวสารที่มากมาย แต่มันก็ขึ้นอยู่กับคนรับ ว่าเขาจะเลือกรับอย่างไร รู้จักใช้ความคิดใช้สติปํญญานำไปใช้ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร นอกจากนี้ยังมีภัยที่มาพร้อมกับความเจริญก้าวหน้า ที่ทำให้คนสำคัญตนเองผิด     ยกตัวอย่างการที่รัฐนำ ไฟฟ้า ประปา ถนนเข้าหมู่บ้าน ถามว่าดีหรือไม่ ทุกคนก็ต้องบอกว่าดี แต่หารู้ไม่ว่าความเจริญที่เดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน ทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่า พอมีไฟฟ้าแล้วก็อยากมีทีวี มีตู้เย็น มีเครื่องปรับอากาศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นกับชีวิตประจำวันเลย แต่พอถึงวันนี้ที่หมู่บ้านเจริญแล้ว คนก็เลยแข่งกันที่จะ "มี" บ้านไหนไม่มีเงินซื้อก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือขายที่นาที่ไร่ของบรรพบุรุษ แลกเป็นเงินเอามาซื้อวัตถุเหล่านี้ คิดผิดว่าเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนมันวัดกันที่วัตถุ และที่เลวร้ายที่สุดไม่มีอะไรจะขายแลกเงิน ก็เอาลูกสาวไปเร่ขาย ภัยที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักว่าอะไรคือความพอเพียง แล้วมันก็เชื่อมต่อไปในระดับประเทศ ที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินต่างประเทศมา จนต้องตกเป็นทาสทางเศรษฐกิจจนทุกวันนี้

               "ภัยที่เกิดขึ้นมันไม่ได้แยกส่วนเกิดขึ้น ว่าจะเป็นภัยสังคม ภัยเศรษฐกิจ ภัยวัฒนธรรม เพราะทุกอย่างจะเชื่อมโยงถึงกัน เราจะมามอง หรือมาแก้ปัญหากันเป็นส่วน ๆ คงไม่ได้ จะต้องมองโดยองค์รวมของทั้งระบบ ซึ่งถ้ามองกันให้ลึกซึ้งแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันนี้ก็ล้วนแต่เกิดจากตัวเราเองแทบทั้งนั้น เราขาดความเข้าใจ ขาดสติปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและถ่องแท้ รับเอาข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรมต่างประเทศมาก็รับมาชนิดครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่เข้าใจถึงรากเหง้าที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แล้วพอรับมาก็ไม่สามารถเอามาปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต        แบบแผนของสังคมของตนเองได้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะเราเองก็ยังไม่เข้าใจในสังคมตนเองเลย" ดร.เอกวิทย์กล่าว

                สำหรับการดำเนินการของทาง ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจะใช้กลยุทธ์ ๓ รูปแบบ คือป้องกันแก้ไข และวิธีการในแนวรุก โดยรูปแบบแรกคือ การป้องกัน ทางศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ข้อมูลด้าน วัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เหมือนกับเป็นการสร้างภูมิต้านทานทางวัฒนธรรมให้กับคน โดยเน้นให้เกิดความเข้าใจและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติ ประการที่ ๒ คือ แนวทางแก้ไข ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่าวัฒนธรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยมีเหตุจากภายนอก คือ การหลั่งไหลของวัฒนธรรมต่างชาติ และข้อมูลข่าวสารมากมาย ขณะเดียวกันเหตุจากภายในที่คนยังไม่เข้าใจในวัฒนธรรมของตนดีพอ ยังไม่รู้จักใช้สติปัญญาในการคิดใคร่ครวญที่ดี เป็นผลให้สังคมเปิดรับเอาการถ่ายเทโดยไม่มีการกลั่นกรองเกิดเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการสร้างระบบเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก เพื่อเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เฝ้าระวังการกระทำอันเป็นเหตุให้วัฒนธรรมเบี่ยงเบน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียได้

                 ในขณะที่กลยุทธ์ในแนวรุก จะมุ่งเน้นการผลิตสื่อเพื่อการเผยแพร่ความรู้ด้านวัฒนธรรม ที่ถูกต้องทุกรูปแบบให้แก่ประชาชน โดยเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ นอกจากนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุคคลโดยการอบรม สัมมนา และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม เน้นให้เข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงการท่องว่าวัฒนธรรมคืออะไร ซึ่งเป็นความเข้าใจอย่างผิวเผิน

                 ดร. เอกวิทย์เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว และได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า "การเฝ้าระวังในอดีตที่ผ่านมา คนทำงานมักเป็นฝ่ายตาม กล่าวคือเมื่อเกิดการกระทำผิดทางวัฒนธรรมขึ้น หน้าที่เราก็เพียงแต่ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุแทบทั้งสิ้น และการกระทำผิดก็จะไม่จางหายไปจากสังคมไทยเราจริง ๆ เกิดเรื่องนี้ขึ้น เราก็ตามแก้ไป แล้วก็จะเกิดขึ้นอีกวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ซึ่งเราคงตามล้างตามเช็ดไม่หมดไปอย่างแน่นอน

                 จะเห็นว่า แนวทางของศูนย์ฯ เป็นแนวทางที่น่าสนใจและอาจจะเป็นความหวังได้ว่า การดำเนินการในการเฝ้าระวังฯ จะประสบความสำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงจากแนวตั้งรับ     เป็นแนวรุก เป็นการป้องกันกันตั้งแต่ต้นเหตุ ซึ่งทำให้การดำเนินการแก้ไขในส่วนปลายเหตุจะลดน้อยลง ทั้งนี้หัวใจหลักของการดำเนินการคือการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ถูกต้องเสมือนเป็นภูมิต้านทานให้เขาปกป้องภัยด้วยตัวของเขาเองขั้นแรก และเป็นขั้นที่ดีที่สุด

 ศูนย์เฝ้าระวังฯ : แนวทางแก้ไขปัญหา และป้องกันภัยทางวัฒนธรรมตามความคิดอาจารย์คืออะไร

 ดร. เอกวิทย์ : ต้องใช้สติในการแก้ปัญหา หันกลับไปหาวิถีชีวิตดั้งเดิม และโดยเฉพาะหันกลับไปหาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะเป็นความรู้ที่ชาวบ้านมีพื้นฐานความเข้าใจเป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคตก็จะยังมีคุณค่าและสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

                  นอกจากนี้จะต้องฟื้นฟูระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล และบุคคลกับ        สิ่งแวดล้อม หันกลับไปหาพ่อเฒ่า แม่เฒ่า ปู่ ย่า ตา ยาย อย่าไปดูถูกดูแคลนความรู้ของคนเหล่านี้ พวกเขาใช้ระยะหลายชั่วคนในการสั่งสมความรู้ ผิดจากคนรุ่นใหม่ที่มีความคล่องตัวสูงในโลกใหม่หรือโลกเศรษฐกิจที่เป็นไปในลักษณะทุนนิยมข้ามชาติ ซึ่งความคล่องตัวตรงนี้ทำให้คนรุ่นใหม่สำคัญตนผิด คิดว่าจะสามารถเป็นผู้นำได้ด้วยเพราะเป็นผู้มีทุน มีเครื่องมือ และหวังจะกอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์ตนฝ่ายเดียว คนไม่สัมพันธ์กับคนแต่ไปสัมพันธ์กับวัตถุกับผลประโยชน์ ทำให้คุณค่าระหว่างคนด้วยกันลดลง ปัญหามันก็เกิดขึ้น เพราะทุกคนคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเอง

                  เมื่อเห็นแต่ผลประโยชน์แล้ว ทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกใช้ไปเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว แต่ก่อนเราเคารพพระแม่โพสพ พระแม่คงคา พระแม่ธรณี ด้วยสำนึกในบุญคุณว่า ช่วยให้เราได้มีข้าวกิน มีน้ำใช้ มีดินปลูกพืชผักอุดมสมบูรณ์ ครั้นเมื่อระบบทุนนิยมเข้ามา เราโหมใช้ทรัพยากรอย่างมากมาย เพื่อให้ผลตอบแทนจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ กับสิ่งแวดล้อม

                 แนวทางการแก้ไขที่จะทำได้ คือ เราต้องรู้จักความพอดีในการดำรงชีวิต ปฏิบัติตามพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นทางรอดที่จะทำให้เราฟันฝ่าทุกปัญหาวิกฤต และต้องมีสติในการดำรงชีวิต และเมื่อมีสติแล้ว ปัญญาก็จะเกิด พาชีวิตและสังคมไปสู่ความสงบสุขได้

 

  วัฒนธรรมคือศักดิ์ศรีของชาติ


 

ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม