ศูนย์เฝ้าระวังทาง...
บรรณาธิการ
ห้องรับแขก
ฉลาดบริโภค
บอกเล่าเก้าสิบ
ร่วมด้วยช่วยสังคม
ข่าวคนดี
แสดงความคิดเห็น

 

ใครว่าเมืองไทยไม่การ์ตูน

ใครว่าเมืองไทยไม่การ์ตูน เพศและกามารมณ์ ลูกหลาน เผ่าพันธ์... โฆษณาขายเซกส์ ความจริงต้องยอมรับ รถเมล์แอร์ธรรมชาติ

 สุดสาคร

 

ใครว่าเมืองไทยไม่มีการ์ตูน

กำเนิดสุดสาครช่วงปิดภาคเรียนใหญ่ที่ผ่านมามีหนังการ์ตูนเรื่องหนึ่งได้เข้าฉายในโรงหนังบ้านเรา ชื่อว่า The Prince of Egypt เป็นหนังการ์ตูนเรื่องยาวของบริษัทดรีมเวิร์ก ประเทศอเมริกา เป็นที่ได้รับความสนใจสำหรับคนดูหนังบ้านเราพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งการที่เด็กให้ความสนใจกับการ์ตูนไม่ใช่เรื่องแปลกอยู่แล้ว แต่ที่น่านำมาขบคิดกันก็คือ เด็กไทยส่วนใหญ่มักจะได้ชมหนังการ์ตูนที่ผลิตจากต่างประเทศทั้งนั้น เด็กไทยคนไทยที่ไม่รู้จัก ชินจังจอมแก่น มารูโกะจอมกวน ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้ถือว่าเชยระเบิดทีเดียวหรือใครไม่เคยดูหนังการ์ตูนของวอลท์ ดิสนีย์ ที่โด่งดังมากๆในเรื่องการผลิตการ์ตูนยาวจากฮอลลีวู้ดละก็คงจะคุยกับเด็กๆสมัยนี้ด้วยกันไม่รู้เรื่องเป็นแน่

จากการที่เด็กๆมักติดการ์ตูน โดยเฉพาะการ์ตูนที่มาจากต่างประเทศ เลยทำให้ย้อนกลับมาดูว่าประเทศของเราเคยมีใครผลิตการ์ตูนโดยฝีมือคนไทยเองให้เด็กๆดูบ้างหรือเปล่า แทบจะนึกไม่ออกกันเลยทีเดียว นึกไม่ออกก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพราะบ้านเราก็เคยมีคนผลิตการ์ตูนยาวออกมาเรื่องหนึ่งชื่อ “สุดสาคร” ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ผลิตโดยคนวาดและดำเนินการผลิตชื่อ ปยุต เงากระจ่างขึ้นจากเหว เขาผู้นี้เป็นบุคคลแรกและบุคคลเดียวในขณะนี้ของประเทศไทยที่ทำการ์ตูนออกมาสำหรับคนไทยอย่างแท้จริง โดยเลือกเอาตอนๆหนึ่งของวรรณคดีที่เป็นมรดกของชาติที่ชื่อว่า “พระอภัยมณี” มาทำเป็นการ์ตูน นั่นก็คือช่วงกำเนิดสุดสาครนั่นเอง

ทุกคนคงรู้จักเรื่องพระอภัยมณีเป็นอย่างดี แต่ก็จะย้อนเล่าให้ฟังเล็กน้อยเฉพาะตอนที่ทำมาเป็นการ์ตูน เราคงจะจำกันได้ว่าพระอภัยมณีและนางเงือกได้เสียกันเป็นสามีภรรยา นางเงือกซึ่งอาศัยอยู่ที่อ่าวหน้าเกาะแก้วพิสดารได้คลอดลูกชาย พระโยคีได้นำไปเลี้ยงไว้และให้ชื่อว่าสุดสาคร สุดสาครเป็นเด็กที่มีความสามารถโดยกำเนิดอยู่แล้ว เมื่อได้เรียนวิชาอาคมจากพระโยคีก็ยิ่งเก่งกล้ามากขึ้น เมื่ออายุได้ 3 ขวบก็ได้ลาแม่และพระโยคีออกตามหาบิดา โดยมีม้ามังกร (ม้าวิเศษที่เป็นลูกผสมระหว่างม้ากับมังกร) ซึ่งจับได้กลางทะเลเป็นพาหนะคู่ใจ และมีไม้เท้าของโยคีเป็นอาวุธคู่มือ ระหว่างการเดินทางได้ผจญภัยต่างๆ เช่นรบกับพวกผีดิบ ถูกชีเปลือยเจ้าเล่ห์ผลักตกเหว ได้ม้านิลมังกรแต่ทุกครั้งพระโยคีก็มาช่วยและสอนให้รู้ถึงการดำรงชีวิตในโลกให้ด้วย ทุกคนคงเคยได้ยินคำกลอนตอนนี้บ้างเป็นแน่ “แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน” นี่คือคำสอนหนึ่งที่พระโยคีสอนสุดสาคร สุดสาครเมื่อได้เดินทางตามหาพระบิดาและผ่านอุปสรรคต่างๆก็ได้มาถึงเมืองการะเวก กษัตริย์เมืองการะเวกเห็นเข้าก็นึกรัก จึงเลี้ยงไว้เป็นโอรสบุญธรรมคู่กับธิดาของพระองค์ชื่อเสาวคนธ์ ต่อมาพระองค์กษัตริย์เมืองการะเวกมีพระโอรสอีกพระองค์หนึ่งชื่อหัสไชย สุดสาครใช้ชีวิตอยู่ในเมืองการะเวกถึง 10 ปี ก็ทูลลาเจ้าเมืองการะเวกติดตามหาพระบิดาต่อ โดยมีเสาวคนธ์และหัสไชยขอติดตามไปด้วย ซึ่งตอนนั้นพระอภัยมณีอยู่บนเรือสำเภาอีกลำหนึ่ง แต่เรื่องก็มาจบลงเสียก่อนเพราะว่าคุณปยุต เงากระจ่าง ทำการ์ตูนเรื่องนี้ต่อไม่ไหว เหตุผลเนื่องมาจากสุขภาพร่างกายตอนนั้นไม่ค่อยจะแข็งแรงนัก

การ์ตูนเรื่องสุดสาครนี้เริ่มผลิตอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2519 และออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2520 ขณะนี้การ์ตูนเรื่องนี้มีอายุได้ 20 ปีเศษๆแล้ว เป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกที่ยังไม่มีเรื่องที่สองหรือเรื่องที่สามตามมา ที่นำเอาเรื่องนี้มาเขียนและแนะนำให้ทุกคนรู้จักก็เพราะอยากให้ทุกคนมีโอกาสได้ดูหนังการ์ตูนเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นการ์ตูนที่ผลิตสำหรับให้คนไทยดู เพราะเป็นการนำเอาวรรณคดีเรื่องเอกของประเทศมาทำแล้วหนีผีเสื้อสมุทร ยังเป็นการแสดงความภาคภูมิใจกับคนไทยและประเทศของเราที่อย่างน้อยก็มีการ์ตูนสักเรื่องหนึ่งเป็นของคนไทยเอง และที่สำคัญการที่ปยุต เงากระจ่าง เลือกเรื่องนี้มาทำเป็นการ์ตูนก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะทำให้เราได้คติและแง่คิดของการดำรงชีวิตความเป็นเด็ก เพราะสุดสาครถึงแม้จะมีพละกำลังเก่งกล้าแค่ไหนแต่ประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็ยังน้อยมากนัก ฉะนั้นก็ต้องมีการเชื่อฟังและให้ความเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อนเราก็เป็นเรื่องที่ดี ทุกคนคงจะเห็นแล้วว่า การ์ตูนเรื่อง “สุดสาคร” เป็นการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดทีเดียว แต่ตอนนี้ก็เข้าใจว่าหาดูได้ยากเต็มที นอกจากจะมีโอกาสสำคัญๆจริงๆ ถ้าใครสนใจนำการ์ตูนเรื่องนี้ไปศึกษาสามารถติดต่อไปได้ที่มูลนิธิหนังไทยได้ เพราะคาดว่าน่าจะยังมีฟิล์มเหลืออยู่ให้เราทุกคนได้มีโอกาสชมกัน

ดูโขน   ดูหนัง  แล้วย้อนดูตัวเอง


ศูนย์ฝ้าระวังทางวัฒนธรรม