ศูนย์เฝ้าระวังทาง...
บรรณาธิการ
ห้องรับแขก
ฉลาดบริโภค
บอกเล่าเก้าสิบ
ร่วมด้วยช่วยสังคม
ข่าวคนดี
แสดงความคิดเห็น

เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

รูปถ่ายสติ๊กเกอร์ อาหารขยะ.. เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

 

เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านอาหาร GMOs

 

ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับ GMOs กันมากพอสมควร แต่บางคนทำหน้างงสงสัยว่า GMOs คืออะไร เพราะไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง จะรู้บ้างก็แบบงู ๆ ปลา ๆ เลยไม่แน่ใจว่ารู้จริงหรือเปล่า ดังนั้นเพื่อป้องกันอาการงงเป็นไก่ตาแตกของใครหลายคน ก็จะอธิบายให้ทราบพอสังเขปถึงที่มาที่ไปของ GMOs ว่าคืออะไรและท้ายที่สุดแล้วเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร

                GMOs เป็นชื่อย่อมาจาก Genetic Modified Oganism หรืออาจเรียกในอีกชื่อว่า Living Modified oganism ( LMOs) ทั้งสองชื่อนี้หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่ได้จากกระบวนการปรับปรุงทางพันธุกรรมโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า พันธุวิศวกรรม ซึ่งวิธีการนี้ก็คือการถ่ายเทหรือเคลื่อนย้ายยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตหนึ่ง อาจเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกันก็ได้ ภายหลังจากการถ่ายเทยีนทำให้ได้ลักษณะที่ต้องการหรือได้สิ่งมีชีวิตใหม่ที่มีลักษณะตามต้องการ

                สิ่งมีชีวิตที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้จะนำมาใช้ในการวิจัยและการพัฒนาในวงการอุตสาหกรรมอาหาร โดยเจ้าของเทคโนโลยีใหญ่คือประเทศสหรัฐอเมริกายกย่องให้การใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตในอนาคตเพราะประชากรของโลกที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น กำลังการผลิตในลักษณะเดิมอาจจะไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลมากคืออาหารที่ผ่านการตัดต่อยีนอาจมีผลต่อสุขภาพมนุษย์ พืช สัตว์และสิ่งแวดล้อม

                ความกังวลที่ค่อนข้างชัดเจนจนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านอาหารตัดต่อยีนเริ่มจากในประเทศยุโรป อาหารตัดต่อยีนถูกเรียกขานว่าเป็นอาหารแฟรงเก้นสไตน์ เนื่องจากผู้บริโภคในแถบประเทศดังกล่าวเกรงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการได้รับเชื้อโรคใหม่ที่ยากแก่การรักษา เกิดการทำลายภูมิต้านทานในร่างกาย ซึ่งข้อกังขาและความกังวลใจทั้งหมดยังไม่มีผลการพิสูจน์ยืนยันว่าอาหารตัดต่อยีนจะเป็นอันตรายและทำให้เกิดผลกระทบอย่างที่มีความกลัวกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ขอรับประทานไว้ก่อน ในลักษณะกันไว้ดีกว่าแก้

                สำหรับประเทศไทยรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่ามีพืชพันธุ์ตัดต่อยีนที่นำเข้ามาทั้งหมด 18 รายการ อาทิเช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด และกระแสของผู้บริโภคในประเทศเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการติดฉลากเพื่อแยกผลิตภัณฑ์อาหาร GMOs กับไม่มี GMOs ออกจากกัน

                เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศพยายามที่จะหานโยบายหรือมาตรการในการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์อาหารตัดต่อยีน โดยหนึ่งในหลาย ๆ มาตรการของประเทศไทยขณะนี้กำหนดการติดฉลากเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศ และประเทศคู่ค้าร้องขอให้ต้องตรวจสอบว่าเป็นอาหารตัดต่อยีนหรือไม่ หรือการกำหนดให้พืชตัดต่อยีนเป็นพืชต้องห้ามนำมาปลูกในพระราชอาณาจักรไทย

                เรื่องอาหารตัดต่อยีนนี้หากพิจารณาตามแนวพระราชดำรัสในเรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ประชาชนชาวไทยคงไม่ต้องไปตื่นตูมตามกระแสโลกที่เกิดขึ้นมากนัก ซึ่งนอกจากไม่ต้องตื่นตระหนกแล้ว ยังสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากความวิตกเรื่องอันตรายที่เกิดขึ้น มาเป็นโอกาสที่ดีในการผลิตอาหารส่งขายต่างประเทศด้วย

เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีกำลังผลิตอาหารสำคัญของโลก เราสามารถที่จะผลิตให้อาหารให้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ แต่เหตุที่บ้านเมืองเรายังมีปัญหาขาดแคลนอาหาร ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ โรคแมลงต่าง ๆ นั่นก็เพราะเราไปเดินตามเศรษฐกิจการค้าแบบฝรั่งที่มุ่งเน้นการทำกำไรมากเกินไปจนลืมพื้นฐานวิถีชีวิตดั้งเดิม

คนไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงชีวิตด้วยการเพาะปลูกมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เพาะปลูกเพื่อให้มีอาหารกินอย่างเพียงพอ ส่วนที่เหลือจึงนำมาแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายกัน แต่สภาพปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแทนที่จะเพาะปลูกเพื่อรับประทานเพียงพอในครอบครัวกลับเร่งผลิตเพื่อจะขาย ขาย และขายให้ได้เงินมามากๆ แล้วสุดท้ายก็เอาเงินที่ได้มาซื้ออาหารรับประทาน  ซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วยังก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นผลสืบเนื่องจากการบริโภคที่มากเกินความจำเป็น หรือเป็นผลจากสังคมแห่งการบริโภคนิยม

กลับมาที่วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือ รู้จักกินรู้จักใช้ตามอัตภาพของตนเอง ที่ผ่านมาเรารู้จักแต่การบริโภคจนลืมไปว่าแท้จริงแล้วตัวของเราเองก็มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ผลิตได้  เช่น ปลูกกระถินริมรั้ว ปลูกผักสวนครัวแปลงเล็ก ๆ ข้างบ้าน ไม่มีพื้นที่ก็ปลูกใส่กระถางเล็ก ๆ กะละมังเก่า ๆ เมื่อถึงคราวนำมาใช้ก็ไม่ต้องวิ่งโร่ไปตลาดอย่างเดียว หากปลูกแล้วเหลือกินเหลือใช้ก็นำมาแบ่งปันกันในชุมชน หรือจะแลกเปลี่ยนสินค้ากันและกัน แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดในการผลิตด้วยตนเองมีมาก เพราะสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้สามารถทำได้ แต่เราสามารถที่จะเลือกบริโภคได้ เช่น ซื้อข้าวปลอดภัยจากสารพิษ ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตในลักษณะของเกษตรอินทรีย์ คือการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ข้อได้เปรียบของเราดังที่กล่าวมาแล้วคือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เหตุที่เราไม่สามารถผลิตอาหารได้เต็มตามศักยภาพที่ควรจะได้ ไม่ใช่เพราะประเทศเราไม่ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต แต่เกิดจากการที่คนของเรามุ่งจะเอาประโยชน์จากทรัพยากรเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกพืชใช้สารเคมีอย่างหนัก การโหมการผลิตจนทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากทุกคนร่วมรับรู้ปัญหาด้วยกัน และมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว  ประเทศไทยจะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ และเหลือมากพอที่จะส่งขายให้ประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ที่สำคัญไม่ต้องพึ่งอาหาร GMOs ให้หวาดวิตกถึงอันตรายที่จะตามมา วันนี้รีบกลับไปปลูกผักสวนครัว ปลูกเองกินเองกันดีกว่า