ศูนย์เฝ้าระวังทาง...
บรรณาธิการ
ห้องรับแขก
ฉลาดบริโภค
บอกเล่าเก้าสิบ
ร่วมด้วยช่วยสังคม
ข่าวคนดี
แสดงความคิดเห็น

สัมภาษณ์แขกรับเชิญ

สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ สัมภาษณ์ศิลปินแห่งชาติ สัมภาษณ์แขกรับเชิญ

สัมภาษณ์ คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม

สัมภาษณ์พิเศษคุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ

  

เมื่อเอ่ยถึงสถานบันเทิงเริงรมย์ที่ชื่อว่า  “พัฒน์พงษ์” เกือบจะทุกความคิดมุ่งตรงไปที่สาวนุ่งน้อยห่มน้อยเต้นโชว์อยู่หลังเสา คอยคลอเคลียเป็นเพื่อนนั่งดื่มกับแขกที่มาเที่ยว และสุดท้ายลงเอยที่การมีเพศสัมพันธ์ คำว่า “หญิงบริการ” เป็นการเรียกที่เสมือนดูถูกดูแคลนอยู่ในที นั่นเพราะอาชีพที่เธอเหล่านั้นทำอยู่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

แต่ด้วยความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งสามารถที่จะชุบชีวิตของ “หญิงบริการ”  ให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ และมีความหวังที่จะยืนอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น ความพยายามนั้นแทรกตัวอยู่ในแสงสีของ “พัตน์พงษ์”มาเป็นเวลาร่วม ๆ 10 ปีแล้ว และผลแห่งความเพียรพยายามก็ได้สัมฤทธ์ผลรุ่นแล้วรุ่นเล่า

คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม หรือ พี่รางค์ ของน้องๆ กลุ่มหญิงบริการย่านพัฒน์พงษ์ ผู้ประสานงานของเอ็มเพาเวอร์หรือศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ เล่าถึงการก่อตัวของกลุ่มกิจกรรมเพื่อผู้หญิงบริการโดยเฉพาะแห่งเดียวในประเทศไทยว่า เริ่มจากผู้ก่อตั้งศูนย์คือ พี่น้อยหรือ จันทวิภา อภิสุข เข้ามาทำงานวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงบริการในพื้นที่นี้กับเพื่อนชาวต่างชาติ เข้ามาเจอกับน้อง ๆ แถวนี้ล้อมหน้าล้อมหลังให้ช่วยอ่านจดหมาย เขียนจดหมายให้เพราะรู้ว่าพี่น้อยพูดภาษาอังกฤษได้ บางคนมาปรึกษาปัญหา ขอร้องให้ช่วยพาไปไปรษณีย์จะส่งเงินกลับบ้าน มาปรึกษาให้ช่วยพาลูกเข้าโรงเรียน พี่น้อยเห็นว่ามันไม่ใช่มาขอร้องคนสองคน แต่เริ่มเป็นกลุ่มมากขึ้น มันน่าจะเป็นปัญหาร่วมกันแล้ว จึงมีความคิดว่าน่าจะจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือขึ้น และชักชวนให้หญิงบริการเหล่านี้มาเรียนหนังสือกัน

“ตอนแรกนี้เปิดสอนเฉพาะภาษาอังกฤษเพราะนำมาใช้ในการทำงานของเขาได้ คนเข้ามาเรียนเยอะมาก ทั้งหมดเป็นผู้หญิงบริการในย่านพัฒน์พงษ์ สอนอังกฤษไปได้ระยะหนึ่งพบว่า บางคนอยากเรียนแต่เรียนไม่ได้เพราะอ่านภาษาไทยยังไม่ได้เลย ก็จัดเป็นห้องเรียนภาษาไทยขึ้นมา นอกจากนี้ยังเปิดสอนภาษาญี่ปุ่น ฝึกพิมพ์ดีด และมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ค่ายความสัมพันธ์ ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มตั้งศูนย์ฯ จะมีกลุ่มละครตระเวนเล่นตามบาร์ต่าง ๆ ซึ่งตอนนั้นเป็นกลุ่มละครที่รณรงค์เรื่องการป้องกันโรคเอดส์ เราจะไปเล่นช่วงบาร์เปิด ขอความร่วมมือกับเจ้าของบาร์ให้เข้าไปเล่น พร้อมกับประชาสัมพันธ์งานที่ศูนย์ฯทำอยู่ “

                หลังจากนั้นปี 2535 เริ่มมีการขยายศูนย์ไปตั้งสาขาที่ซอยคาวบอย ถนนสุขุมวิท 23 และที่ซอยนานาในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนหลายคนของศูนย์มาเล่าให้ฟังว่า อยากไปสมัครงานแต่ติดปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษา ทั้งที่มีประสบการณ์ อ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ ครั้นพาไปเรียนที่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ก็เรียนไม่ได้เพราะบังคับเรียนเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาทำงานของผู้หญิงกลุ่มนี้ เจ้าหน้าที่ในศูนย์จึงมาประชุมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

                “ทางศูนย์ฯเห็นว่าน่าจะจัดโครงการการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพราะเห็นว่าสามารถเรียนได้ด้วยตนเองโดยไม่มีกำหนดเวลาเรียนตายตัว ก็ได้ประสานไปที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อจะขอจัดการเรียน กศน.ขึ้นที่ศูนย์ฯ พัฒน์พงษ์ โดยตอนแรกเปิดเพียงชั้น ประถมและม.ต้น เพราะคนที่มาเรียนส่วนใหญ่อัตราการเรียนรู้อยู่ระหว่างนี้ บางคนไม่จบ ป. 6 เสียด้วยซ้ำ จากนั้นก็ได้ขยายให้มีการเรียนการสอนในชั้นม.ปลาย ปัจจุบันมีนักเรียนเข้ามาเรียน 70-80 คน ระดับประถมประมาณ 10 คน มัธยมต้น 32 คน และมัธยมปลาย 29 คน เวลาที่เริ่มเปิดสอนจะเป็นช่วงบ่าย ๆ เริ่มตั้งแต่บ่ายสองโมง”

                คุณสุรางค์ เล่าว่า นักเรียนที่จบไปหลายคนเข้าไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ทั้งที่อยู่ในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยพาณิชย์ และสถาบันราชภัฏแล้วประมาณ 24 คน หรือหลายคนนำวุฒิการศึกษาที่ได้รับไปสมัครงานที่ได้ตั้งใจไว้เป็นงานที่สังคมให้การยอมรับ แต่ก็มีหลายคนสมัครใจที่จะกลับมาช่วยเหลือเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ที่ศูนย์เพื่อให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับโอกาสที่ดีอย่างที่เขาได้รับแล้ว

                “โครงการนี้ทำให้เห็นเรื่องกระบวนการกลุ่มเพราะหลักสูตรของ กศน. เองก็จะเน้นการทำ

กิจกรรมกลุ่มอยู่แล้ว ทุกคนที่เข้ามาที่ศูนย์ฯจะพยายามช่วยเหลือกัน แบ่งปันโอกาสดี ๆ ให้กับเพื่อนกับน้อง จะไม่มีภาพว่าหญิงบริการไม่ถูกกันเพราะแย่งลูกค้า ที่นี่ทุกคนจะห่วงใยกันใครมีปัญหาจะช่วยกันแก้ไข ใครหายหน้าไปก็จะไต่ถามว่ามีอะไร ทำไม ”

                สำหรับการเรียนการสอนในศูนย์แห่งนี้ จะแตกต่างจากศูนย์ฯ กศน.อื่น ๆ เพราะทางศูนย์ฯจะเป็นผู้กำหนดบุคลากรที่จะสอนเอง “สุรางค์”  เล่าว่าผู้ที่จะมาสอนไม่แค่ได้รับวุฒิครูเท่านั้น ต้องเป็นทั้งเพื่อน เป็นพี่ คอยให้คำปรึกษา เข้าใจปัญหาและประเด็นทางด้านสังคม ดังนั้นทุกคนที่เข้ามาทำงานตรงนี้ต้องเข้าใจตรงกันว่าการเข้ามาทำงานต้องไม่ทำให้ผู้หญิงบริการรู้สึกว่าเขาเป็นคนไม่ดี เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาคือมนุษย์คนหนึ่ง มีชีวิตและมีคุณค่าเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม มีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการทุกอย่างที่สังคมจัดให้

                “ทุกคนที่เข้ามาที่นี่ไม่ต้องเข้ามาเรียนทุกคน บางคนเข้ามาหาเพื่อน มากินข้าว มานอนเล่น ที่ศูนย์ฯแห่งนี้คือที่ของพวกเขา จะมาทำอะไรก็ได้ขอให้เขาทำแล้วสบายใจ ถ้าไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน อย่าเรียนเพราะเกรงใจ ที่นี่ไม่มีการบังคับใด ๆ เพราะการศึกษาที่ต้องบังคับกันมันค่อนข้างล้มเหลว น่าจะเป็นเรื่องของความสมัครใจมากกว่า ทุกคนสามารถที่จะคิดทำอะไรได้ ในชั่วโมงเรียนบางครั้งนักเรียนมีประเด็นมาถามเราก็นั่งคุยกันเรื่องนั้นทั้งชั่วโมง สำหรับใครที่มีปัญหามาคุยกันมาปรึกษากันได้ทุกเรื่อง”

                สุรางค์ จันทร์แย้ม กล่าวว่า ตลอดการทำงานมากสายตาที่มองเห็นหญิงบริการเหล่านี้ เขาก็คือคน ๆ หนึ่ง มีสิทธิที่จะทำอะไรหรือได้รับบริการใด ๆ เช่นเดียวกับคนอื่น เขาสามารถที่จะเลือกประกอบอาชีพได้ สังคมควรจะให้โอกาสแก่เขา ไม่คิดแบ่งแยกเห็นเป็นคนอีกจำพวกหนึ่งของสังคมที่น่ารังเกียจ ในความเป็นมนุษย์เขาควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

อาชีพ “หญิงบริการ” ไม่ได้เป็นอาชีพที่ผู้หญิงเป็นคนกำหนดขึ้นมา  เรามองว่าคนทำงานอาชีพนี้น่า

รังเกียจ เป็นความผิดที่มาทำอาชีพนี้ แต่ทำไมรัฐจึงไม่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ เพราะในเมื่อมันไม่มีทางเลือกคนก็ต้องไปทำงานในอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับ หญิงสาวที่เข้ามาในธุรกิจนี้ไม่ได้เป็นผู้เริ่มอาชีพ “หญิงบริการ” ผู้ทำธุรกิจได้ประโยชน์มหาศาลจากการหากินกับผู้หญิง แต่สังคมไม่ตำหนิเขาเท่ากับผู้หญิงบริการ คนที่ได้รับประโยชน์ในลำดับสุดท้ายกับเป้านิ่งที่สังคมมุ่งโจมตี

“สังคมน่าจะเปิดใจกว้างว่ามันมีอาชีพนี้อยู่จริง เป็นอาชีพที่มีรายได้ที่เลี้ยงชีวิตและครอบครัว สังคมรับธุรกิจนี้ทำไมจึงไม่รับคนที่อยู่ในอาชีพนี้ ถ้ายอมรับว่ามีอาชีพนี้ในสังคม คนที่ทำอาชีพนี้ก็น่าจะได้รับดูแลเหมือนคนอาชีพอื่น การแก้ปัญหาที่ทำกันอยู่นี้เหมือนกับหลับตามองไม่เห็นว่ามีอาชีพนี้อยู่ แล้วคิดกฎหมายออกมาควบคุมเอาผิดกับธุรกิจนี้ ซึ่งหากมองที่ปัญหาจริงแล้ว การที่คนเข้ามาในอาชีพนี้คือต้องการมีรายได้ มีข้าวกิน เขาไม่ต้องการกฎหมายที่จะมาเอาผิดเขา รัฐต้องสร้างงานสร้างรายได้ ไม่ใช่การไล่จับ คนที่ท้องมันหิว ลูกต้องเรียนหนังสือถ้าไม่มีเงินมันก็ต้องดิ้นรน ”

หากสังคมจะมอง “หญิงบริการ” ด้วยความเข้าใจ น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ธุรกิจขายบริการนี้หมดไปจากสังคมอย่างแท้จริง ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ควรที่จะต้องรับบาปกับทางเลือกเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และมีชีวิตอยู่ด้วยตัวของตัวเองไม่ได้เบียดเบียนใคร เพราะถ้าเขามีโอกาสเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม บนเส้นทางอาชีพหญิงบริการนี้ คงจะไม่มีแม้เงาของเธอเหล่านั้นปรากฎขึ้นเลย